“สวนผักริมระเบียง” วิตามินในพื้นที่จำกัด

“สวนผักริมระเบียง” วิตามินในพื้นที่จำกัด

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น แนวทางการปลูกผักไว้ทานเองจึงเริ่มได้รับความสนใจ และกลายเป็นอีกหนึ่งกระแสที่ค่อยๆ ได้รับความนิยม หากแต่คนเมืองเองก็มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยคับแคบ และไม่เพียงพอ ดังนั้นแม้จะมีความคิดเรื่องการปลูกผักไว้ทานเอง แต่ก็จำกัดด้วยพื้นที่

กับปัญหาเหล่านี้ ดร.กนกรัตน์ ยศไกร อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มองมุมต่าง คิดทำแปลงปลูกผักขึ้นภายในมหาวิทยาลัย และกลายเป็นผู้ริเริ่มโครงการปลูกผักสวนครัวริมระเบียง เพราะเล็งเห็นประโยชน์ รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะได้กลับคืนมา

“สวนผักริม ระเบียงที่เห็นอยู่นี้ปลูกมาได้ประมาณปีกว่า แต่มันเป็นการต่อยอดมาจากการทำแปลงปลูกผักบนดาดฟ้าเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน ตอนนั้นเราเป็นรองผู้อำนวยการอยู่ที่สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ พอดีบนอาคารมีพื้นที่ดาดฟ้าว่างอยู่ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงแบ่งพื้นที่บนดาดฟ้าประมาณ ¾ ของพื้นที่ทำเป็นแปลงปลูกผัก”

main_garden

     ผักสวนครัวบนดาดฟ้าของอาจารย์ผู้รักการปลูกผักจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้น นอกจากจะเป็นแปลงอาหารมากประโยชน์แล้ว สวนผักของอาจารย์ยังกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของเจ้าหน้าที่ และอาจารย์ทุกคนหลังเคร่งเครียดจากการทำงาน ให้ได้เดินขึ้นไปมองผักสีเขียวที่เติบโต พร้อมสูดอากาศบนดาดฟ้า แต่ต่อมาเมื่ออาจารย์พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว สวนผักบนดาดฟ้าจึงแปลงร่างมาเป็น “สวนผัก” ริมระเบียงเช่นในปัจจุบัน

 “ตอนนั้นเราเริ่มหาพื้นที่สำหรับปลูกผักใหม่อีกครั้ง เพราะหลังจากพ้นหน้าที่ตรงนั้นมา สวนผักเดิมก็ไม่มีคนดูแล เมื่อมาสำรวจพื้นที่ของอาคารแห่งนี้ จึงเลือกที่บริเวณชั้น 3 ของอาคาร เนื่องจากแสงแดดส่องถึง หากเลือกชั้น 2 มันจะมีหลังคาปิด ไม่เหมาะกับการปลูกต้นไม้”

เดิมทีอาจารย์กนกรัตน์คิดปลูกผักที่หน้าระเบียงห้องทำงานของตัวเองก่อน โดยผักที่ปลูกมีทั้งคะน้าพันธุ์ต้นเล็ก โหระพา กระเพรา ใบแมงลัก มะระขี้นก ต้นหอม ฯลฯ กระทั่งต่อมาเริ่มคิดอยากขยายพื้นที่ปลูกผักริมระเบียงออกไปอีก จึงไปขออนุญาตอาจารย์ผู้สอนห้องข้างๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับปลูกผัก

“ตอนแรกเราทำเฉพาะหน้าห้องของเราก่อน พอมีความคิดอยากขยายพื้นที่จึงเริ่มเด็ดผักที่ปลูกไปให้อาจารย์ห้องข้างๆ ลองชิม และอาจารย์ก็ชอบรสชาติของผักที่ปลูกเองกันทุกคน เพราะมันหวาน กรอบ สด ไม่มีสารพิษเจือปน อาจารย์ห้องข้างๆ ทั้งสองห้องจึงอนุญาตให้ปลูก และเราได้ออกแบบ จัดวางกระถางปลูกให้สวยงาม จะได้น่ามอง”

“ทุกวันนี้เราเด็ดผักมาจิ้มน้ำพริก แกล้มเวลาทานอาหาร ขนมจีน หรือบางคนก็มาเด็ดใบโหระพาไปผสมไข่เจียว ใครมาขอผัก เราก็อนุญาตให้เด็ดไปทานได้เลย เพราะผักบางชนิดถ้าทิ้งไว้แก่มากๆ มันจะกลายเป็นเมล็ด จนทานไม่ทัน เราจึงได้ทั้งผักและมิตรภาพ”

แม้อาจารย์กนกรัตน์จะเป็นผู้ออกไอเดียในการปลูกผักริมระเบียง แต่ถ้าไม่ได้คุณจิ๊ก อุทัย แก้วพิลา แม่บ้านประจำอาคารมาเป็นผู้ช่วยปลูกและดูแล สวนผักริมระเบียงแห่งนี้อาจจะไม่ได้เติบโต เขียวสด น่ารับประทานเช่นในปัจจุบัน

“จิ๊กไม่ได้ทำอะไรมาก เราเคยปลูกผักมาอยู่แล้ว เพราะเราเป็นคนต่างจังหวัด ขั้นตอนสำคัญคือการเตรียมดิน ส่วนผสมมีดิน 1 ส่วนหาซื้อได้ตามร้านขายต้นไม้ ใบไม้ ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และน้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน จากนั้นพรวนดินให้ร่วน ก่อนจะนำดินที่เตรียมไว้ใส่ลงในภาชนะปลูก หว่านเมล็ด สักประมาณ 2 อาทิตย์ เมล็ดก็เริ่มงอกกลายเป็นต้น การดูแลเรารดน้ำวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น และใช้น้ำหมักรดอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยบำรุงดิน กำจัดศัตรูพืช”

หลาย คนคงรู้สึกว่าการปลูกผักไว้ทานเองง่ายขึ้นเยอะ เพราะดูแล้วไม่ได้มีขั้นตอนซับซ้อนหรือยุ่งยากเลย นอกจากนั้นยังเป็นกิจกรรมที่ไม่สิ้นเปลือง เพราะทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ดิน ปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ รวมราคาแล้วไม่ถึง 1,000 บาท เราก็จะได้ทานผักฝีมือตัวเอง

แม้ปัจจุบันสวนผักริมระเบียงบนชั้น 3 ของอาคารเรียนจะมีขนาดความยาวเพียงประมาณ 10 เมตร แต่สิ่งที่ผู้ปลูก ผู้ดูแล รวมไปถึงผู้พบเห็นได้รับ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งดีๆ ที่เจ้าของไอเดีย และผู้มีส่วนร่วมไม่ได้คาดคิด โดยในอนาคตอาจารย์กนกรัตน์ยังมีความคิดให้นักศึกษานำองค์ความรู้จากแปลงผัก ไปพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

“ในอนาคตเราวางแผนให้นักศึกษานำความรู้จากการปลูกผักไปเผยแพร่ให้กับนัก เรียนในโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่เขตจตุจักร เพื่อให้นักเรียนนำความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาต่อ โดยนักศึกษาจะเป็นผู้ออกแบบการปลูกผักและเลือกพื้นที่พัฒนาเอง”

“สวนผัก” บนอาคารของอาจารย์กนกรัตน์ในวันนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่อาหาร แต่กลับเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างสายสัมพันธ์ รวมทั้งเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันที่ผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์แบบไม่รู้ ตัว

ที่มา: home.sanook.com