การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 จัดพิธีเปิดการแข่งขัน ณ โรงแรมบียอนด์กะตะ จังหวัดภูเก็ต
โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากสโมสรเรือใบราชวรุณ กองทัพเรือ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานและพันธมิตร เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สำหรับการแข่งขันในปีนี้ ประกอบด้วยรายการแข่งขันเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ (Keelboats and MultiHulls) ในวันที่ 4-9 ธันวาคม 2566 ทั้งรุ่นไออาร์ซี พรีเมียร์ แบร์โบ้ต มัลติฮัลล์ โมโนฮัลล์ และโมเดิร์นคลาสสิก นอกจากนี้ยังมีรายการแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ คลาส (International Dinghy Classes) ในวันที่ 3-5 ธันวาคม 2566 โดยประกอบด้วยรุ่นออปติมิสต์ชาย-หญิง ไอแอลซีเอ 4 โอเพ่นสกิฟฟ์ และโมโนฮัลล์ดิงกี้ รวมจำนวนเรือใบทุกประเภทที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้จำนวนมากกว่า 100 ลำ
นายเควิน วิทคราฟต์ ประธานกรรมการจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดงานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 และได้ต้อนรับนักกีฬาเรือใบทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสู่รายการแข่งขันเรือใบใหญ่ทั้งประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ รวมถึงรายการอินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ ในสนามแข่งขันซึ่งโอบล้อมด้วยทะเลอันดามันและทัศนียภาพอันงดงามของภูเก็ต ซึ่งเป็นประสบการณ์แสนพิเศษที่หาที่ใดไม่ได้ในโลกกีฬาเรือใบ ทั้งการได้เห็นเพื่อนนักกีฬาที่คุ้นเคยกลับมาร่วมแข่งขันเพื่อชิงถ้วยรางวัลพระราชทานอันทรงเกียรติแห่งเอเชียนั้นก็เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะการแข่งเรือใบของเรา ไม่ใช่แค่การชิงความเป็นหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและการพัฒนากีฬาเรือใบในระดับภูมิภาค”
ายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงผลกระทบเชิงบวกของงานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าที่มีต่อประเทศไทยว่า “การแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าไม่เพียงเน้นย้ำถึงคุณค่าแห่งมรดกทางทะเลของเรา แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ด้วยนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางมาเยือนภูเก็ตตลอดช่วงสัปดาห์การจัดงานในแต่ละปี ได้สร้างประโยชน์แก่ชุมชนอย่างมหาศาล และเราคาดหวังว่าจะได้ต้อนรับพวกเขาตลอดไป การแข่งขันเรือใบนานาชาติภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้ายังถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญในปฏิทินทัวร์นาเมนต์เรือใบระดับโลก และมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้มาสัมผัสกับเสน่ห์อันโดดเด่นในจังหวัดภูเก็ตของเรา”
การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 โดยสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา การแข่งขันเรือใบถูกจัดขึ้นในท้องทะเลอันดามันสีครามใสดุจคริสตัลโดยมีโรงแรมภูเก็ต ยอทช์ คลับ รับเป็นสถานที่จัดงาน ด้วยความทุ่มเทของสโมสรเรือใบราชวรุณ นายกสโมสร คริส คิง และ ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล (หม่อมตรี) ทำให้รายการภูเก็ตรีกัตต้าเติบโตสู่การแข่งขันระดับโลก และกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของนักกีฬาเรือใบชั้นนำทั่วโลก
ปัจจุบัน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าได้ต้อนรับเรือใบมากกว่า 90 ลำในแต่ละปี และถือเป็นรายการสำคัญของทัวร์นาเมนต์ Asian Yachting Circuit ซึ่งประกอบด้วยการแข่งขันเรือใบหลายคลาส ตั้งแต่คลาสเรือเร็วสุดเร้าใจอย่าง Racing Class ไปจนถึงการแล่นเรือทางไกลอย่างรุ่น Cruising Class และด้วยการแข่งขันบนมาตรฐานสากลควบคู่ไปกับงานปาร์ตี้ริมชายหาดยามค่ำที่สนุกสนานเปี่ยมชีวิตชีวา ได้ยกระดับให้ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้ากลายเป็นรายการแข่งขันเรือใบนานาชาติชั้นนำที่โด่งดังทั้งในด้านการต้อนรับที่แสนอบอุ่น และการกระตุ้นจิตวิญญาณแห่งการแข่งขันอันเร่าร้อนของเหล่าลูกเรือ
นายประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมการ กะตะกรุ๊ปและบียอนด์ รีสอร์ท ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทัพนักกีฬาเรือใบและผู้ชื่นชอบกีฬาที่โรงแรมบียอนด์กะตะ สถานที่จัดงานอันทรงเกียรติ รายการภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงจิตวิญญาณแห่งการเดินเรือ น้ำใจนักกีฬา และความสมัครสมานสามัคคี โดยเรามั่นใจว่างานในปีนี้จะช่วยยกระดับภูเก็ตให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวชั้นนำมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราขอให้สายลมเป็นใจและทะเลได้โอบอุ้มเรือใบทุกลำ เพื่อให้เราสามารถจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าที่น่าจดจำได้อีกครั้งในปีนี้”
การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 ประกอบด้วยรายการแข่งขันเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ (Keelboats and MultiHulls Race) ในวันที่ 4-9 ธันวาคม 2566 กำหนดให้วันที่ 7 ธันวาคมเป็นวันพักระหว่างการแข่งขัน การแข่งขันมีทั้งรุ่นไออาร์ซี พรีเมียร์ แบร์โบ้ต มัลติฮัลล์ โมโนฮัลล์ และโมเดิร์นคลาสสิก นอกจากนี้ยังมีรายการแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ คลาส (International Dinghy Classes) ในวันที่ 3-5 ธันวาคม 2566 บริเวณหาดกะตะ ประกอบด้วยรุ่นออปติมิสต์ชาย ออปติมิสต์หญิง ไอแอลซีเอ4 โอเพ่นสกิฟฟ์ ไอแอลซีเอ6 ไอแอลซีเอ7 และโอเค
รายการภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนภูเก็ตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจท้องถิ่น นับตั้งแต่โรงแรมไปจนถึงร้านอาหารและบริการรถโดยสาร ล้วนเติบโตอย่างมีนัยสำคัญตลอดช่วงสัปดาห์การแข่งขันเรือใบ ด้วยบรรยากาศที่รื่นเริงของงานเทศกาลและการหลั่งไหลของทัพนักท่องเที่ยว ได้กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างมาก งานศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่าการแข่งเรือใบมีส่วนช่วยเศรษฐกิจในท้องถิ่นเป็นจำนวนหลายล้านบาทต่อปี ทั้งยังเป็นเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างลูกเรือต่างชาติ รวมถึงชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียงร่วมกันนำเสนออาหารท้องถิ่นรสเลิศ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยและดื่มด่ำกับเทศกาลแข่งขันเรือใบอย่างเต็มอิ่ม
“เป้าหมายของเราคือการทำให้ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าเป็นรายการแข่งขันเรือใบที่ครองใจเจ้าของเรือใบทั่วโลกและเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ทุกคนในครอบครัว เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่สามารถสนุกสนานกับเรือใบใหญ่ ในขณะที่เด็ก ๆ สามารถฝึกฝนเรือใบเล็กไปพร้อมกัน การแข่งขันคิงส์คัพรีกัตต้าถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นและมีรูปแบบการจัดงานที่ดีที่สุดในภูมิภาค โด่งดังไปทั่วโลกทั้งในด้านงานศิลปะท้องถิ่นที่งดงามหลากหลาย นักกีฬาเรือใบจากนานาชาติ และปาร์ตี้ริมชายหาดหลังการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมที่สุด ซึ่งเราภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย รวมไปถึงวงการกีฬาเรือใบอย่างเป็นรูปธรรม” นายเควิน วิทคราฟต์ กล่าวเสริม
ผู้สนับสนุนการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ได้แก่ กะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท ในฐานะผู้สนับสนุนหลัก, คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล, อาร์เอ็มเอ กรุ๊ป, บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด, บมจ. หาดทิพย์, ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไพน์-แปซิฟิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)